RSS

ยินดีต้อนรับเข้าสู่จังหวัดร้อยเอ็ด

คำขวัญประจำจังหวัด

สิบเอ็ดประตูเมืองงาม เรืองนามพระสูงใหญ่

ผ้าไหมสาเกต บุญผะเหวดประเพณี

มหาเจดีย์ชัยมงคล งามน่ายลบึงพลาญชัย

เขตกว้างไกลทุ่งกุลา  โลกลือชาข้าวหอมมะลิ

   

ประวัติเมืองร้อยเอ็ด

            เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 ปีเศษ พระมหากัสสปะพุทธสาวกได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ(พระธาตุพนม)จากเมืองกุสินารา มาประดิษฐาน ณ ดอยกัปปนคีรี หรือปณคีรี (ภูกำพร้า) ขณะนั้นมีมหานครอยู่ 4 นคร คือเมืองหนองหานหลวง (จ.สกลนคร) เมืองสาเกตนคร (จ.ร้อยเอ็ด) เมืองมรุกนคร (จ.นครพนม) และเมืองอินทรปัฏฐนคร(กรุงพนมเปญ) นครทั้ง 4 ได้จัดเวรผลัดเปลี่ยนดูแลทำนุบำรุงพระอุรังคธาตุคราวละ 3 ปี

             สาเกตนครมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดสมัยพญาสุริยวงศา มีเมืองขึ้น 11 เมือง ได้แก่ เมืองฟ้าแดด (อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์) เมืองเปือย (บ้านเมืองเปือย อ.เมืองร้อยเอ็ด) เมืองทอง (บ้านเมืองทอง อ.เมืองร้อยเอ็ด) เมืองหงษ์ (บ้านเมืองหงษ์ อ.จตุรพักตรพิมาน) เมืองบัว (บ้านเมืองบัว อ.เกษตรวิสัย) เมืองคอง (บริเวณบ้านเมืองสรวง อ.เมืองสรวง) เมืองเชียงขวง (บริเวณป่าขัวหลวง บ้านจาน อ.ธวัชบุรี) เมืองเชียงดี (บ้านหัวโนน อ.ธวชับุรี) และเมืองไพ (บ้านเมืองไพร อ.เสลภูมิ) ซึ่งสมัยนั้นคงจะเรียกว่า สาเกตนคร เมืองสิบเอ็ดผักตู สิบแปดป่องเอี้ยม ซาวเก้าแม่คั่นได ตามลักษณะที่มีเมืองขึ้นที่มีเส้นทางติดต่อเข้าออก 11 เมือง หรือ 11 ประตู หรืออีกในความเชื่อหนึ่งก็เห็นว่าคงจะมีวิหารกลางเมืองเป็นวิหารไม้ 3 ชั้น ที่มี 11 ประตู 18 หน้าต่าง 29 ขั้นบันได เป็นวิหารหลวงขนาดใหญ่ (สร้างด้วยไม้) และพังทลายไปตามกาลเวลา จึงหาหลักฐานยืนยันไม่ได้ สาเกตนครเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนถึงสมัยผาแดง พระยาขอมธรรมิกราช ผู้ครองนครหนองหานหลวงก็ทำลายสาเกตนครได้สำเร็จ เพราะผู้ครองนครสาเกตไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม สาเกตนครเมืองสิบเอ็ดผักตู ก็กลางเป็นเมืองร้างจนมีต้นกุ่ม (ผักกุ่ม) ขึ้นรอบเมืองจึงเรียกว่า บ้านกุ่มฮ้าง (ร้าง)

               ต่อมาสมัยอาณาจักรขอม ได้เสื่อมอำนาจลงในบริเวณนี้ อาณาจักรล้านช้าง (เมืองหลวงพระบาง) ได้มีอำนาจเข้ามาแทนที่จนกระทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2256 (ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร กษัตริย์นครจำปาศักดิ์ ทราบว่า ร้อยเอ็ดเป็นเมืองร้าง จึงให้ท้าวแก้วมงคลหรือจารย์แก้ว โอรสเจ้าศรีวิไชย ซึ่งเป็นโอรสของเจ้าองค์ศรีวรมงคลและเจ้าองค์ศรีวรมงคลเป็นโอรสของพระเจ้าศรีสัตนาคนหตุ (เมืองเวียงจันทร์) จารย์แก้วคุมครัวประมาณ 3,000 คน มาตั้งบ้านท่ง ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นเมืองท่งหรือ เมืองทุ่ง (อ.สุวรรณภูมิ) พ.ศ.2268 จารย์แก้วถึงแก่กรรม อายุได้ 84 ปี มีบุตรชาย 2 คน คือท้าวมืดซ่ง ตลอดเมื่อวันเกิดสุริยุปราคา และ ท้าวทน (หรือทนต์) บางฉบับว่ามี 3 คน คือ ท้าวองค์หล่อหน่อคำ (หรือท้าวเพ) พระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรจึงตั้งท้าวมืดเป็นเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเป็นอุปราช พ.ศ.2306 ท้าวมืดถึงแก่กรรม กรมการเมืองมีใบบอกไปยังนครจำปาศักดิ์ จึงตั้งท้าวทนครองเมืองอยู่มาได้ประมาณ 4 ปี ท้าวเชียงกับท้าวสูน (บุตรท้าวมืด) บาดหมางกับท้าวทน ซึ่งเป็นอา จึงรวมกับกรมการเมืองไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระบรมราชาที่ 3(พระที่นั่งสุริยาอมรินทร์) กรุงศรีอยุธยา จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยากรมท่าและพระยาพรม นำกำลังมาพร้อมกับท้าวเชียงและท้าวสูน ท้าวทนได้ข่าวก็อพยพไพร่พลไปอยู่บ้านกุดจอก (บ้านดงเมืองจอก อ.อาจสามารถ) ท้าวเชียงจึงได้เป็นเจ้าเมือง ท้าวสูนเป็นอุปราชเมืองทุ่งก็ขาดจากการปกครองของจำปาศักดิ์ เข้าอยู่ในอำนาจกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่นั้นมา ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพรหม พระยากรมท่ายกทัพมาเพื่อว่ากล่าวให้ท้านทนกับท้าวเชียงและท้าวสูนให้ประนีประนอมกัน

              พ.ศ. 2315 พระยาพรหม พระยากรมท่า ปรึกษากับท้าวเชียงกับท้าวสูน แล้วเห็นว่าที่ตั้งเมืองเป็นเนินสูงอยู่ใกล้ลำน้ำเซ (ปัจจุบันคือลำน้ำเสียว) น้ำไหลแรงเซาะตลิ่งชัยภูมิไม่เหมาะสม จึงมีใบบอกไปยังพระเจ้ากรุงธนบุรีขอย้ายเมืองไปตั้งตำบลดงเท้าสาร ห่างจากเดิม 100 เส้น ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองเก่าชัยภูมิดี ตั้งชื่อว่าเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งท้าวโอ๊ะบุตรท้าวเชียงเป็นพระยารัตนวงศาเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ (หรือศรีภูมิ) สร้างหลักเมืองและวัดพร้อมกัน 2 วัด คือ วันกลางและวัดใต้

           พ.ศ. 2318 ท้าวทนซึ่งไปอยู่ดงเมืองจอกได้เข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่า ซึ่งเห็นว่าท้าวทนมีบ่าวไพร่มากประมาณ 6,000 คน จึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรีขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมือง โดยยกบ้านกุ่มฮ้าง ซึ่งเป็นเมืองร้อยเอ็ดเก่า ยกขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ดตามเดิม ตั้งท้าวทนเป็นพระขัติยะวงษา (ท้าวทนคือต้นตระกูล ธนสีลังกูรปัจจุบัน)

            พ.ศ.2326 พระขัติยะวงษา (ท้าวทน) ถึงแก่กรรม มีบุตร 3 คน คือ ท้างสีลัง ท้าวภู ท้าวอ่อน โปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวสีลังเป็นพระขัติยะวงษา เจ้าเมืองให้ท้าวภูเป็นอุปราชเมือง

            พ.ศ.2330 ท้าวสูนเจ้าเมืองสุวรรณภูมิถูกทิดโคตรฟันถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งท้าวอ่อนเป็นบุตร พระขัติยะวงษา (ท้าวทน) ซึ่งถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่กรุงเทพฯ ให้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

            พ.ศ.2433 มีการจัดการปกครองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกเป็น 4 บริเวณ ร้อยเอ็ดเป็นบริเวณหนึ่งขึ้นต่อเมืองอุบลและนครจำปาศักดิ์

             พ.ศ. 2434 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแบ่งเป็น 2 มณฑล ร้อยเอ็ดขึ้นต่อมณฑล “ลาวกาว” ซึ่งต่อมาเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ และมณฑลอีสานตามลำดับ

              พ.ศ.2451 ได้เปลี่ยนชื่อ “บริเวณร้อยเอ็ด” เป็นจังหวัดร้อยเอ็ด

              พ.ศ.2455 มณฑลอีสาน แยกเป็น 2 มณฑล ได้แก่ มณฑลอุบล และมณฑลร้อยเอ็ด

              พ.ศ.2495 ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ยุบมณฑลต่าง ๆ มณฑลร้อยเอ็ดจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบัน 

 
ใส่ความเห็น

Posted by บน กันยายน 14, 2011 นิ้ว Uncategorized